อักษรวิ่ง

โรคไตวาย อาการ สาเหตุ ความรู้เบื้องต้น

วันพุธที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2562

โรคไต







ไต คือ อวัยวะที่สำคัญกับร่างกายเช่นเดียวกับอวัยวะอื่นๆเช่น สมอง และหัวใจ ลักษณะภายนอกของไตนั้นมีลักษณะคล้ายเมล็ดถั่วแดง 2 เมล็ด วางอยู่บริเวณบั้นเอว ข้างกระดูกสันหลัง รอบข้างไตมีกระดูกซี่โครงคลุมเพื่อป้องกันอันตราย ไตแต่ละข้างมีน้ำหนักประมาณ 150 กรัม เส้นผ่านศูนย์กลางตามยาวประมาน 11–12 เซนติเมตร
ไตแบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ ไตชั้นนอกและไตชั้นใน โดยแต่ละข้างจะรับเลือดจากหัวใจผ่านทางเส้นเลือดแดงใหญ่ เมื่อเลือดไหลผ่านที่ไต จะมีการกรองผ่านทางท่อหน่วยไตเล็กๆจำนวน 1 ล้านหน่วยในแต่ละข้างของไต (Nephron) หลังจากนั้นจึงปล่อยของเสียที่ผ่านการกรองในรูปของปัสสาวะ












หน้าที่หลักของไต

  • กรองของเสียออกจากร่างกายในรูปของน้ำปัสสาวะ เมื่อน้ำปัสสาวะผ่านการกรองแล้วจะไหลผ่านกรวยไตและท่อไต ลงสู่กระเพาะปัสสาวะและขับออกสู่ร่างกาย
  • คงสมดุลกรด-ด่าง ไตจะทำหน้าที่ร่วมกับปอดในการควบคุมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด ไม่ให้มีความเป็นกรดมากเกินไป หากเลือดมีความเป็นกรดมากไตจะเพิ่มความเป็นกรดในปัสสาวะ และขับออกจากร่างกาย โดยค่าความเป็นกรด-ด่าง( PH ) ที่เหมาะสมกับการทำงานของเซลล์ร่างกาย คือ PH = 7.4
  • ควบคุมสมดุลน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย ไตจะทำหน้าที่ร่วมกับต่อมใต้สมองที่มีชื่อว่า พิทูอิตารีแกร์น ( pituitary gland ) จะผลิตฮอร์โมน ADH ขึ้นมาควบคุมปริมาณน้ำที่เหมาะสมกับร่างกาย หากร่างกายได้รับน้ำมากเกินไป สมองจะสั่งงานไปที่ไตขับน้ำออก เราก็จะปัสสาวะบ่อยและหากร่างกายขาดน้ำสมองจะสั่งไตให้ขับปัสสาวะน้อยลงสีปัสสาวะจะเข้มขึ้น ไตยังทำหน้าที่ในการควบคุมสมดุลของ โซเดียม โพแทสเซียม ในร่างกายให้เหมาะสม
  • ผลิตฮอร์โมน อิลิโทโพลิติน จะทำงานร่วมกับไขกระดูกในการสร้างเม็ดเลือดแดง ฮอร์โมนเรนิน ที่ทำหน้าที่ควบคุมความดันโลหิตเป็นต้น

ภาวะไตวาย

ไตวายเป็นภาวะที่ไตสูญเสียหน้าที่การทำงาน ไม่สามารถควบคุมสมดุลน้ำ เกลือแร่ ความเป็นกรดด่าง การกรองของเสียออกจากร่างกายทางปัสสาวะ เช่น urea และการทำหน้าที่สังเคราะห์ฮอร์โมนที่สำคัญๆ เช่น เรนิน ซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมระดับความดัน ฮอร์โมนอิริโทรโปอิติน ที่ทำหน้าที่ร่วมกับไขกระดูกในการผลิตเม็ดเลือดแดง












ภาวะไตวายแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ
1. ไตวายเฉียบพลัน (Acute kidney injury) หรือ AKI คือช่วงที่ไตมีการสูญเสียการทำหน้าที่อย่างรวดเร็ว โดยมีสาเหตุมาจาก ภาวะช็อค หรือหัวใจมีการขาดเลือดไปเลี้ยง การได้รับยาในปริมาณมากหรือยาวนานเกินไปทำให้เป็นพิษต่อไตและทำให้เกิดการสะสมของ ของเสียที่มีธาตุไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบ (nitrogenous waste products) ได้แก่ ยูเรีย (urea) และครีเอตินิน (creatinine) ในเลือด ส่งผลให้ร่างกายมีความผิดปกติ มีการคั่งของเกลือแร่และน้ำ
2. ไตวายเรื้อรัง (chronic kidney disease) คือภาวะที่เนื้อไตถูกทำลายอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจใช้ระยะเวลาเป็นเดือนหรือเป็นปี เป็นการถูกทำลายและสูญเสียหน้าที่อย่างถาวรไม่สามารถฟื้นคืนมาอีก โดยมีสาเหตุมาจาก โรคเบาหวานความดันโลหิตสูง นิ่วในท่อทางเดินปัสสาวะ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแสดงให้เห็นจนกว่าไตจะมีความเสียหายมากกว่า 50% จะเริ่มมีอาการคลื้นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ตัวบวม หอบเหนื่อย นอนราบไม่ได้ โดยอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นทีละน้อย จนกระทั่งมีความรุนแรงมากจนผู้ป่วยไม่สามารถทนตวามเจ็บได้

อาการของภาวะไตวาย

อาการของภาวะไตวายเฉียบพลันนั้นขึ้นอยู่กับอายุและความรุนแรงในการสูญเสียหน้าที่ของไตสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ












  1. ระยะปัสสาวะออกน้อย (Oliguric-anuric phase) ระยะนี้จะมีปัสสาวะออกน้อยกว่า 400 ml. ใน 24 ชั่วโมงหรืออาจน้อยกว่า 100 ml. ในบางราย มีการสะสมของเสียในเลือด ทำให้เกิดอาการฮีโมไลติกยูรีมิก ( Uremic syndrome — การแตกของเม็ดเลือดแดงในไตอย่างเฉียบพลัน ) จะพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน เยื่อบุช่องปากอักเสบ ซึม ชัก และหมดสติ นอกจากนี้ยังพบภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ น้ำ ความเป็นกรดด่างที่ไม่สามารถขับออกได้จากการเผาผลาญ (Metabolic acidosis)ทำให้ระบบหายใจต้องมาช่วยชดเชยการทำงานตรงนี้ ผู้จะมีอาการหายใจเร็วและลึก เพื่อขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซน์ออกมากขึ้น เพื่อเป็นการช่วยลดกรดในร่างกาย
  2. ระยะปัสสาวะออกมาก (Diuretic phase) ระยะนี้ปัสสาวะถูกขับออกมากกว่า 1000 ml. ใน 24 ชั่วโมง ทำให้มีการสูญเสีย โซเดียม โพแทสเซียม คลอไรด์ และน้ำ มีผลให้เกิดอาการช็อคได้ เมื่อเข้าสู่ระยะนี้ระดับของสาร urea และ creatinine (Cr) ลดลง
  3. ระยะฟิ้นฟูสภาพ (Recovery phase) เป็นระยะที่ระดับสาร urea และ creatinine (Cr) ในเลือดกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

การดูแลรักษาโรคไตวาย

  1. รักษาสาเหตุของภาวะไตวายเฉียบพลัน คือ พยายามหาสาเหตุของการเกิดให้ได้เร็วที่สุดและหยุดสาเหตุนั้น เช่น แก้ไขภาวะช็อค หรือหยุดยาที่เป็นสาเหตุทำลายไต
  2. การให้ยาแก้ไขภาวะไตวาย เพื่อกระตุ้นการทำงานของไตและกระตุ้นการขับปัสสาวะ ยาที่นิยมนำมาใช้ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มของสารกระตุ้นหลอดเลือด (Vasoactive agent) และยาขับปัสสาวะ
  3. การรักษาตามอาการแบบประคับประคอง และควบคุมโรคแทรกซ้อน คือ พยายามคงสมดุลของสารน้ำในร่างกายให้คงที่ และไม่มากจนเกินไป หากสามารถชั่งน้ำหนักผู้ป่วยได้ควรให้น้ำหนักผู้ป่วยลดลงประมาณ 0.2–0.3 กิโลกรัมต่อวัน หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่เป็นพิษต่อไต การเฝ้าระวังภาวะสมดุลของเกลือแร่ อาจมีภาวะผู้ป่วยที่มีแนวโน้มมีโพแทสเซียมในเลือดสูง จึงควรงดอาหารประเภทที่ให้โพแทสเซียมสูง เช่น องุ่น ชา กาแฟ เป็นต้น
  4. การให้สารอาหารที่เหมาะสม จัดอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายผู้ป่วย โดยควรได้รับพลังงานใน 1 วัน = 30–45Kcal ต่อน้ำหนักผู้ป่วย 1 กิโลกรัม ควรให้สารอาหารที่มีโปรตีนเพียงพอ และควรเป็นโปรตีนชนิดมีคุณค่าทางโภชนาการสูง (high biological value protein) คือโปรตีนจากเนื้อ นม ไข่ และปลา แต่เนื่องจากนมมีสารฟอสเฟตสูง ในผู้ที่ไตวายจึงไม่แนะนำให้ทาน
  5. การล้างไต คือกระบวนการที่คิดค้นขึ้นเพื่อทดแทนการทำหน้าที่ของไตที่สูญเสียหน้าที่ไป และช่วยให้เกิดการขจัดของเสีย น้ำ เกลือแร่ที่คั่งอยู่ในร่างกาย และรักษาอาการข้างเคียงที่เกิดจากภาวะไตวายกระบวนการนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคไตมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น












การล้างไตมีทั้งหมด 3 วิธีคือ

1. การฟอกไตการฟอกไตด้วยเครื่องฟอกไตเทียม เป็นกระบวนการนำเลือดออกจากร่างกายผู้ป่วยมาฟอกด้วยเครื่องไตเทียม ที่มีตัวกรองเป็นตัวกลางในการกำจัดของเสียและน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย เลือดที่ผ่านการฟอกแล้วจะถูกส่งกลับเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย การฟอกไตด้วยเครื่องโดยส่วนใหญ่ใช้เวลา 4–5 ชม./ครั้ง
2. การล้างไตทางหน้าท้อง เป็นกระบวนการที่มีการใส่น้ำยาล้างไตเข้าไปค้างไว้ในช่องท้องประมาน 4–6 ชม.เพื่อฟอกเอาของเสียและน้ำส่วนเกินในร่างกายออก เมื่อครบกำหนดเวลาก็ปล่อยน้ำยาล้างไตที่มีของเสียและน้ำส่วนเกินทิ้ง และใส่น้ำยาถุงใหม่เข้าไป ส่วนใหญ่มักทำเช่นนี้วันละ 4 รอบ การล้างไตวิธีนี้ผู้ป่วยสามารถทำได้ด้วยตนเองที่บ้าน
3. การปลูกถ่ายไต เป็นการผ่าตัดนำไตจากผู้บริจาคใส่ในอุ้งเชิงการของผู้รับ แล้วต่อเชื่อมเส้นเลือดและท่อไตเข้ากับไตเก่า โดยไม่ต้องนำไตเก่าออก เป็นวิธีการรักษาที่ให้ประสิทธิภาพสูงที่สุดในปัจจุบัน












การดูแลตนเองหลังจากล้างไต

  • หมั่นสังเกตการขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ จำนวนครั้ง สี สังเกตอาการท้องผูก เพราะอาการท้องผูกจะทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดไส้เลื่อนหรือการรั่วซึมของน้ำยา
  • ควรชั่งน้ำหนักทุกวัน ไม่ควรให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นมากกว่า 0.5–1 Kg/วัน หากชั่งน้ำหนักขณะที่มีน้ำยาล้างไตค้างท้องอยู่ให้ลบน้ำหนักน้ำยาล้างไตออกด้วย และควรสังเกตอาการบวมตามร่างกายส่วนต่างๆ
  • สังเกตและทำความสะอาดของช่องทางออกของท่อไตทุกวัน และสังเกตบริเวณแผลว่ามีคราบเลือดและหนองหรือไม่
  • สังเกตความขุ่นและสีของน้ำยาล้างไต หากมีความขุ่นหรือมีตะกอนควรมาพบแพทย์
  • ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ตามสัดส่วนปริมาณที่เหมาะสม
  • รับประทานยาตามแพทย์สั่งสม่ำเสมอ ห้ามหยุดยาเอง และเมื่อพบการผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์

AmazingCounters.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โรคไต

ไต  คือ อวัยวะที่สำคัญกับร่างกายเช่นเดียวกับอวัยวะอื่นๆเช่น สมอง และหัวใจ ลักษณะภายนอกของไตนั้นมีลักษณะคล้ายเมล็ดถั่วแดง 2 เมล็ด วา...