ไต คือ อวัยวะที่สำคัญกับร่างกายเช่นเดียวกับอวัยวะอื่นๆเช่น สมอง และหัวใจ ลักษณะภายนอกของไตนั้นมีลักษณะคล้ายเมล็ดถั่วแดง 2 เมล็ด วางอยู่บริเวณบั้นเอว ข้างกระดูกสันหลัง รอบข้างไตมีกระดูกซี่โครงคลุมเพื่อป้องกันอันตราย ไตแต่ละข้างมีน้ำหนักประมาณ 150 กรัม เส้นผ่านศูนย์กลางตามยาวประมาน 11–12 เซนติเมตร
ไตแบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ ไตชั้นนอกและไตชั้นใน โดยแต่ละข้างจะรับเลือดจากหัวใจผ่านทางเส้นเลือดแดงใหญ่ เมื่อเลือดไหลผ่านที่ไต จะมีการกรองผ่านทางท่อหน่วยไตเล็กๆจำนวน 1 ล้านหน่วยในแต่ละข้างของไต (Nephron) หลังจากนั้นจึงปล่อยของเสียที่ผ่านการกรองในรูปของปัสสาวะ
หน้าที่หลักของไต
- กรองของเสียออกจากร่างกายในรูปของน้ำปัสสาวะ เมื่อน้ำปัสสาวะผ่านการกรองแล้วจะไหลผ่านกรวยไตและท่อไต ลงสู่กระเพาะปัสสาวะและขับออกสู่ร่างกาย
- คงสมดุลกรด-ด่าง ไตจะทำหน้าที่ร่วมกับปอดในการควบคุมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด ไม่ให้มีความเป็นกรดมากเกินไป หากเลือดมีความเป็นกรดมากไตจะเพิ่มความเป็นกรดในปัสสาวะ และขับออกจากร่างกาย โดยค่าความเป็นกรด-ด่าง( PH ) ที่เหมาะสมกับการทำงานของเซลล์ร่างกาย คือ PH = 7.4
- ควบคุมสมดุลน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย ไตจะทำหน้าที่ร่วมกับต่อมใต้สมองที่มีชื่อว่า พิทูอิตารีแกร์น ( pituitary gland ) จะผลิตฮอร์โมน ADH ขึ้นมาควบคุมปริมาณน้ำที่เหมาะสมกับร่างกาย หากร่างกายได้รับน้ำมากเกินไป สมองจะสั่งงานไปที่ไตขับน้ำออก เราก็จะปัสสาวะบ่อยและหากร่างกายขาดน้ำสมองจะสั่งไตให้ขับปัสสาวะน้อยลงสีปัสสาวะจะเข้มขึ้น ไตยังทำหน้าที่ในการควบคุมสมดุลของ โซเดียม โพแทสเซียม ในร่างกายให้เหมาะสม
- ผลิตฮอร์โมน อิลิโทโพลิติน จะทำงานร่วมกับไขกระดูกในการสร้างเม็ดเลือดแดง ฮอร์โมนเรนิน ที่ทำหน้าที่ควบคุมความดันโลหิตเป็นต้น
ภาวะไตวาย
ไตวายเป็นภาวะที่ไตสูญเสียหน้าที่การทำงาน ไม่สามารถควบคุมสมดุลน้ำ เกลือแร่ ความเป็นกรดด่าง การกรองของเสียออกจากร่างกายทางปัสสาวะ เช่น urea และการทำหน้าที่สังเคราะห์ฮอร์โมนที่สำคัญๆ เช่น เรนิน ซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมระดับความดัน ฮอร์โมนอิริโทรโปอิติน ที่ทำหน้าที่ร่วมกับไขกระดูกในการผลิตเม็ดเลือดแดง
ภาวะไตวายแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ
1. ไตวายเฉียบพลัน (Acute kidney injury) หรือ AKI คือช่วงที่ไตมีการสูญเสียการทำหน้าที่อย่างรวดเร็ว โดยมีสาเหตุมาจาก ภาวะช็อค หรือหัวใจมีการขาดเลือดไปเลี้ยง การได้รับยาในปริมาณมากหรือยาวนานเกินไปทำให้เป็นพิษต่อไตและทำให้เกิดการสะสมของ ของเสียที่มีธาตุไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบ (nitrogenous waste products) ได้แก่ ยูเรีย (urea) และครีเอตินิน (creatinine) ในเลือด ส่งผลให้ร่างกายมีความผิดปกติ มีการคั่งของเกลือแร่และน้ำ
2. ไตวายเรื้อรัง (chronic kidney disease) คือภาวะที่เนื้อไตถูกทำลายอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจใช้ระยะเวลาเป็นเดือนหรือเป็นปี เป็นการถูกทำลายและสูญเสียหน้าที่อย่างถาวรไม่สามารถฟื้นคืนมาอีก โดยมีสาเหตุมาจาก โรคเบาหวานความดันโลหิตสูง นิ่วในท่อทางเดินปัสสาวะ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแสดงให้เห็นจนกว่าไตจะมีความเสียหายมากกว่า 50% จะเริ่มมีอาการคลื้นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ตัวบวม หอบเหนื่อย นอนราบไม่ได้ โดยอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นทีละน้อย จนกระทั่งมีความรุนแรงมากจนผู้ป่วยไม่สามารถทนตวามเจ็บได้
อาการของภาวะไตวาย
อาการของภาวะไตวายเฉียบพลันนั้นขึ้นอยู่กับอายุและความรุนแรงในการสูญเสียหน้าที่ของไตสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ
- ระยะปัสสาวะออกน้อย (Oliguric-anuric phase) ระยะนี้จะมีปัสสาวะออกน้อยกว่า 400 ml. ใน 24 ชั่วโมงหรืออาจน้อยกว่า 100 ml. ในบางราย มีการสะสมของเสียในเลือด ทำให้เกิดอาการฮีโมไลติกยูรีมิก ( Uremic syndrome — การแตกของเม็ดเลือดแดงในไตอย่างเฉียบพลัน ) จะพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน เยื่อบุช่องปากอักเสบ ซึม ชัก และหมดสติ นอกจากนี้ยังพบภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ น้ำ ความเป็นกรดด่างที่ไม่สามารถขับออกได้จากการเผาผลาญ (Metabolic acidosis)ทำให้ระบบหายใจต้องมาช่วยชดเชยการทำงานตรงนี้ ผู้จะมีอาการหายใจเร็วและลึก เพื่อขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซน์ออกมากขึ้น เพื่อเป็นการช่วยลดกรดในร่างกาย
- ระยะปัสสาวะออกมาก (Diuretic phase) ระยะนี้ปัสสาวะถูกขับออกมากกว่า 1000 ml. ใน 24 ชั่วโมง ทำให้มีการสูญเสีย โซเดียม โพแทสเซียม คลอไรด์ และน้ำ มีผลให้เกิดอาการช็อคได้ เมื่อเข้าสู่ระยะนี้ระดับของสาร urea และ creatinine (Cr) ลดลง
- ระยะฟิ้นฟูสภาพ (Recovery phase) เป็นระยะที่ระดับสาร urea และ creatinine (Cr) ในเลือดกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
การดูแลรักษาโรคไตวาย
- รักษาสาเหตุของภาวะไตวายเฉียบพลัน คือ พยายามหาสาเหตุของการเกิดให้ได้เร็วที่สุดและหยุดสาเหตุนั้น เช่น แก้ไขภาวะช็อค หรือหยุดยาที่เป็นสาเหตุทำลายไต
- การให้ยาแก้ไขภาวะไตวาย เพื่อกระตุ้นการทำงานของไตและกระตุ้นการขับปัสสาวะ ยาที่นิยมนำมาใช้ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มของสารกระตุ้นหลอดเลือด (Vasoactive agent) และยาขับปัสสาวะ
- การรักษาตามอาการแบบประคับประคอง และควบคุมโรคแทรกซ้อน คือ พยายามคงสมดุลของสารน้ำในร่างกายให้คงที่ และไม่มากจนเกินไป หากสามารถชั่งน้ำหนักผู้ป่วยได้ควรให้น้ำหนักผู้ป่วยลดลงประมาณ 0.2–0.3 กิโลกรัมต่อวัน หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่เป็นพิษต่อไต การเฝ้าระวังภาวะสมดุลของเกลือแร่ อาจมีภาวะผู้ป่วยที่มีแนวโน้มมีโพแทสเซียมในเลือดสูง จึงควรงดอาหารประเภทที่ให้โพแทสเซียมสูง เช่น องุ่น ชา กาแฟ เป็นต้น
- การให้สารอาหารที่เหมาะสม จัดอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายผู้ป่วย โดยควรได้รับพลังงานใน 1 วัน = 30–45Kcal ต่อน้ำหนักผู้ป่วย 1 กิโลกรัม ควรให้สารอาหารที่มีโปรตีนเพียงพอ และควรเป็นโปรตีนชนิดมีคุณค่าทางโภชนาการสูง (high biological value protein) คือโปรตีนจากเนื้อ นม ไข่ และปลา แต่เนื่องจากนมมีสารฟอสเฟตสูง ในผู้ที่ไตวายจึงไม่แนะนำให้ทาน
- การล้างไต คือกระบวนการที่คิดค้นขึ้นเพื่อทดแทนการทำหน้าที่ของไตที่สูญเสียหน้าที่ไป และช่วยให้เกิดการขจัดของเสีย น้ำ เกลือแร่ที่คั่งอยู่ในร่างกาย และรักษาอาการข้างเคียงที่เกิดจากภาวะไตวายกระบวนการนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคไตมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
การล้างไตมีทั้งหมด 3 วิธีคือ
1. การฟอกไตการฟอกไตด้วยเครื่องฟอกไตเทียม เป็นกระบวนการนำเลือดออกจากร่างกายผู้ป่วยมาฟอกด้วยเครื่องไตเทียม ที่มีตัวกรองเป็นตัวกลางในการกำจัดของเสียและน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย เลือดที่ผ่านการฟอกแล้วจะถูกส่งกลับเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย การฟอกไตด้วยเครื่องโดยส่วนใหญ่ใช้เวลา 4–5 ชม./ครั้ง
2. การล้างไตทางหน้าท้อง เป็นกระบวนการที่มีการใส่น้ำยาล้างไตเข้าไปค้างไว้ในช่องท้องประมาน 4–6 ชม.เพื่อฟอกเอาของเสียและน้ำส่วนเกินในร่างกายออก เมื่อครบกำหนดเวลาก็ปล่อยน้ำยาล้างไตที่มีของเสียและน้ำส่วนเกินทิ้ง และใส่น้ำยาถุงใหม่เข้าไป ส่วนใหญ่มักทำเช่นนี้วันละ 4 รอบ การล้างไตวิธีนี้ผู้ป่วยสามารถทำได้ด้วยตนเองที่บ้าน
3. การปลูกถ่ายไต เป็นการผ่าตัดนำไตจากผู้บริจาคใส่ในอุ้งเชิงการของผู้รับ แล้วต่อเชื่อมเส้นเลือดและท่อไตเข้ากับไตเก่า โดยไม่ต้องนำไตเก่าออก เป็นวิธีการรักษาที่ให้ประสิทธิภาพสูงที่สุดในปัจจุบัน
การดูแลตนเองหลังจากล้างไต
- หมั่นสังเกตการขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ จำนวนครั้ง สี สังเกตอาการท้องผูก เพราะอาการท้องผูกจะทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดไส้เลื่อนหรือการรั่วซึมของน้ำยา
- ควรชั่งน้ำหนักทุกวัน ไม่ควรให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นมากกว่า 0.5–1 Kg/วัน หากชั่งน้ำหนักขณะที่มีน้ำยาล้างไตค้างท้องอยู่ให้ลบน้ำหนักน้ำยาล้างไตออกด้วย และควรสังเกตอาการบวมตามร่างกายส่วนต่างๆ
- สังเกตและทำความสะอาดของช่องทางออกของท่อไตทุกวัน และสังเกตบริเวณแผลว่ามีคราบเลือดและหนองหรือไม่
- สังเกตความขุ่นและสีของน้ำยาล้างไต หากมีความขุ่นหรือมีตะกอนควรมาพบแพทย์
- ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ตามสัดส่วนปริมาณที่เหมาะสม
- รับประทานยาตามแพทย์สั่งสม่ำเสมอ ห้ามหยุดยาเอง และเมื่อพบการผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์